ตำนาน พนักงานบริการในประเทศไทย

เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ในหน้านี้เป็นการรวบรวมจากเหตุการณ์และวัฒนธรรมที่มีส่วนกำหนดสภาพของพนักงานบริการในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษมาจนวันนี้ หวังว่าทุกท่าน จะสนุกสนานกับการอ่านตำนาน ของพวกเรา

โน ฮันนี่; โน มันนี่; พลังสร้างชาติ
ส่วนแบ่ง ที่เป็นธรรม
ถุงยางอนามัย ในอดีต
จะเลือกเอากฎหมายข้อไหน... ก็โดนทั้งนั้น
ประวัติศาสตร์ภูธรของพวกเรา
เราทำกันแบบนี้ มาตั้งนานแล้วละทูนหัว...
ที่นี่ฝนตกชุก น้ำท่าบริบูรณ์
อะโกโก้ ในกรุงเทพ
สร้างความเข้มแข็ง เสริมเกียรติภูมิอาชีพของเรา
เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากอดีตที่ยาวนาน และไกลโพ้น

ข้อเท็จจริง และภาพถ่าย ที่รวบรวมเอามาแสดงไว้นี้ มาจากหลายแหล่ง จากผู้คนมากมาย ที่ผู้ให้ข้อมูลก็จะรู้เองว่า แต่ละคนมีส่วนร่วมที่ใดบ้าง เราขอขอบคุณทุกท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม ในความกรุณา และการสนับสนุนงานของเรา

ขึ้นข้างบน

โน ฮันนี่ : โน มันนี่ ; พลังสร้างชาติ


บันทึกทางประวัติศาสตร์ ของรัฐสยาม ที่มีการเก็บรายได้จากการค้าประเวณี ย้อนไกลไปถึงปี พ.ศ. 2223 (ค.ศ.1680) โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐ ออกทะเบียนให้แก่สถานค้าประเวณี ที่ดำเนินการโดยรัฐ ในกรุงศรีอยุธยา รายได้ทั้งหมดเอาเข้ากองคลัง ในสถานประกอบการเหล่านี้ มีหญิงทำงานอยู่ถึง 600 คน และหญิงหลายคนก็เป็นลูกสาวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ผู้จัดการสถานค้าประเวณีนี้ มีหน้าที่คอยซื้อหาทาสผู้หญิง มาทำงานในซ่องนี้ เจ้าของสถานบริการและพนักงานที่มีรายได้ จะต้องเสียภาษีให้รัฐ โดยมีลูกค้า ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ ที่เป็นกลาสีเรือ และพ่อค้านักเดินทาง

เป็นเวลาร่วมศตวรรษ ในยุคนั้น ที่รัฐเก็บรายได้จากภาษีสถานค้าประเวณี มากกว่าจากบ่อนการพนัน


... บ่อนการพนันในกรุงเทพ พ.ศ. 2420 (ค.ศ. 1877)


ขึ้นข้างบน

          น่าเจ็บใจจริง ๆ ที่การประเวณีกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในปี 2503 (ค.ศ. 1960) ซึ่งเป็นปีแรกที่ก่อตั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทการบืนไทย ขึ้น เพราะเหตุว่าหน่วยงานทั้งสองนี้ คือที่มาของรายได้หลักของงานบริการ ในประเทศไทย อย่างเช่นในปี 2509 ประเทศไทยมีรายได้ จากการพักผ่อน (R&R)ของทหารสหรัฐฯ ที่กทำสงครามในอินโดจีนถึง ห้าล้านดอลล่าร์ และรายได้จากส่วนนี้ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2513 หรือเท่ากับ 1 ใน 4 ของรายได้จากการส่งออกข้าวในปีนั้น ประเมินว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จากสงครามเวียดนาม ระหว่าง 16-20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี จนกระทั่งถึงปีที่สงครามได้ยุติลงด้วยชัยชนะของเวียดนามต่อสหรัฐฯ ในปี 2518 ในยุคนั้นเหล้าขาวราคาขวดละ 3.75 บาท หรือ 15 เซ็นต์ เท่านั้น

... แทง คิ้ว ลุงแซม


     ธนาคารโลก (World Bank) แนะนำให้ประเทศไทย รับมือกับการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ด้วยการนำ  การท่องเที่ยว เข้ามาแทนรายได้ที่จะหายไป จากเหล่า จี.ไอ ทหารหาญ

    ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) ประเทศไทยก็เปิดศักราช ปีแห่งการท่องเที่ยวขึ้นเป็นครั้งแรก รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) บุญชู โรจนเสถียร กล่าวต่อสภาว่า  ในระยะปีสองปีมานี้ ประเทศเราจำเป็นต้องเร่งสร้างรายได้ ด้วยเหตุนี้ผมจึงใคร่ขอร้องให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เอาใจใส่กับการบำรุง และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่สวยงาม ไปพร้อม ๆกับธุรกิจด้านสถานบริการ ที่ผมเข้าใจดีว่า พวกท่านหลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ และน่าอาย แต่ก็เพราะว่าสถานบริการทุกแบบ อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยว เราจึงไม่ควรเอาผิดสถานบริการ เพียงเพราะด้วยเหตุผลทางด้านศีลธรรม อีกต่อไป เราจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้การงานอาชีพเช่นนี้ ที่เป็นงานที่สร้างขึ้นเองโดยประชาชนและเพื่อประชาชน


    ต่อมาในปี 2530 ประเทศไทย ก็เปิดศักราชที่สองของการท่องเที่ยว  Visit Year 1987


... การลงทุนมากน้อย ไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด

    
    การรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้ยกระดับขึ้นมากจากระยะแรก ๆ ที่เริ่มในปี 2523 เพื่อจะกลบเกลื่อน และปฏิเสธข่าวเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี. ในประเทศไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการใช้การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก และกลายเป็นแหล่งนำเข้าเงินตราต่างประเทศอันดับหนึ่งของประเทศ ในปี 2530

    ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 ที่เรือรบกองพันที่ 7 ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ มาทอดสมอที่พัทยา มีรายงานว่า ในช่วงเวลา 4 วันนั้น นาวิกโยธินอเมริกันได้นำเงินเข้ามาใช้จ่ายที่พัทยาถึง 8 ล้านดอลล่าร์ ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี และ 12 ล้านดอลล่าร์ ในกิจการโรงแรม, ร้านอาหาร และของชำร่วย

    ในปี 2540 ประเทศไทยประสบปัญหาการตกต่ำทางเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทตกต่ำรุนแรง ทั้งประเทศเป็นหนี้เงินตราต่างประเทศ มหาศาล สร้างผลกระทบทางสังคมรุนแรง เป็นต้นว่าอัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นถึง 20% และอัตรการเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ก็เพิ่มสูงถึง 147,000 ราย จากนั้นในปีต่อมา 2541 รัฐบาลไทยก็ประกาศนโยบายการท่องเที่ยวใหม่ “Amazing Thailand” โดยนำเสนอภาพความสวยงามของหญิงไทย จนทำให้การท่องเที่ยวประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด จนทำให้ประเทศไทยสามารถใช้หนี้ กองทุนนานาชาติ (IMF) ได้ในเวลาอันสั้น


อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ ....


    ปี 2544 รัฐบาลไทยนำนโยบาย จัดระเบียบสังคม ออกมาใช้ควบคุมสถานบริการ (หรือที่เรียกว่า โซนนิ่ง) เป็นต้นว่าการห้ามโชว์ร่วมเพศ ให้สถานบริการเปิดถึงแค่ตี 2 ห้ามคนอายุต่ำกว่า 20 เข้าสถานบริการ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลก่อน 6 โมงเย็น และเริ่มมีการจัดพื้นที่สำหรับสถานบริการ (โซนนิ่ง) เจ้าของสถานบริการในย่านพัฒน์พงษ์ บ่นว่า รายได้ที่เคยมีถึงเดือนละ 1.3 ล้านบาท ได้ลดลงเหลือแค่ 500,000 บาท เมื่อเซ็กซ์โชว์ถูกห้าม

    ในปี 2545 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการซ้อมรบร่วมกันหลายประเทศ (โคป้า ไทเกอร์ Cope Tiger 2002) มีทหารต่างชาติมาร่วมซ้อมรบถึง 1,100 นาย กระทรวงมหาดไทยจึงออกคำสั่งยกเว้นการคุมเข้มสถานบริการในบางพื้นที่เพื่อทหารที่ร่วมซ้อมรบเป็นพิเศษ อนุญาตให้สถานบริการเปิดเลยตี 2 ได้ การควบคุมพื้นที่ (โซนนิ่ง) และการแสดงโชว์บางอย่าง ได้รับการผ่อนผัน และมีการเตือนไม่ให้สถานบริการฉวยโอกาสขึ้นค่าบริการ

    ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2546 มีรายงานการประเมินรายได้ของประเทศจากธุรกิจสถานบริการ ว่า มีอัตราสูงถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ของยอดรายได้ของประเทศทั้งหมด หรือประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่อย่างไรก็ตามสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็รายงานว่า ธุรกิจบาร์ อะโกโก้ และอาบอบนวด ได้จ่ายเงินตอบแทนให้ตำรวจสูงถึง 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่มีการจ่ายภาษีให้รัฐในอัตราที่ต่ำมาก

    จะเห็นได้ว่า ถึงแม้รัฐบาลไทย จะไม่มีการเก็บรายได้จากสถานบริการโดยเปิดเผยแล้ว แต่ก็มีรายได้ผ่านธุรกิจสถานบริการ และการท่องเที่ยว เป็นการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ให้รายได้ต่อประเทศมากมายในแต่ละปี


ขึ้นข้างบน

ส่วนแบ่งที่เป็นธรรม

    ประเทศไทยมีการเก็บเงินจากสถานบริการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2223 อัตราค่าบริการที่ผู้ชายจ่ายในการรับบริการในสมัยนั้น อยู่ระหว่าง 50 สตางค์ ถึง 4 บาท ในเวลานั้นเงิน 50 สตางค์นำไปซื้อข้าวได้ 1 ถัง (15 กก.) และ 4 บาทซื้อข้าวได้กระสอบหนึ่ง (120 กก.) แต่อย่างไรก็ตามคงจะมีพนักงานไม่มากนักได้รับค่าจ้างทำงาน

    นอกจากนี้แล้ว สถานบริการ และพนักงานบริการ ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล มาตลอดทุกยุคทุกสมัย เบียร์ตราสิงห์ ออกวางตลาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 ก็ใช้สถานบริการทั่วประเทศเป็นแหล่งขายตรงที่สำคัญ


...บาร์ ในกรุงเทพ พ.ศ. 2476


    อดีตเจ้าของซ่องเล่าว่า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2485 เขาเคยคิดค่าบริการกับทหารญี่ปุ่น ถึง 20 บาทต่อครั้ง ซึ่งสูงกว่าค่าบริการที่คิดกับคนไทยถึง 40 เท่า ซึ่งเท่ากับว่าใน พ.ศ. นั้น ชายไทยในกรุงเทพฯยังจ่ายค่าบริการเท่ากับชายในยุคกรุงศรีอยุธยาเมื่อ 250 ปีก่อน คือเพียง 50 สตางค์ และพนักงานบริการจะได้รับส่วนแบ่ง 50% ของค่าบริการ

    ถึงปี 2550 ซึ่งรัฐบาลไทยและธุรกิจสถานบริการ ยังคงได้รับผลประโยชน์จากแรงงานพนักงานบริการอยู่ แต่ก็ปรากฏว่าพนักงานกลับไม่เคยได้รับผลตอบแทนต่อคุณค่าทางเศรษฐกิจเลย นายจ้างของพนักงานบริการ ไม่เคยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน และลูกค้าก็ยังคงจ่ายค่าบริการ เป็นอัตราเทียบเท่ากับข้าวสาร 1 ถัง (15 กก.) – 1 กระสอบ (120 กก.)


ขึ้นข้างบน

ถุงยางอนามัยในอดีต 

    พ.ศ. 2343 ใบชา อีฟรีด้า (หรือ หม่าฮวง) นิยมใช้เสิร์ฟลูกค้าสถานบริการในประเทศไทย เพราะเชื่อว่ารักษาโรคหนองไนได้
    พ.ศ. 2463 ประเทศไทยและมาเลเซีย เป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญ ป้อนให้กับโรงงานผลิตถุงยางอนามัยทั่วโลก


....คุณจะยอมให้ผู้ชายคนนี้ ทดสอบถุงยางให้คุณอย่างนั้นหรือ?


    ในปี พ.ศ. 2485 ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นแจกถุงยางอนามัยฟรีให้กับทหารทุกคน และประกาศบังคับให้ทั้งทหารและพนักงานบริการ ใช้ถุงยางทุกครั้ง ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ จะได้รับโทษขั้นร้ายแรง
    แต่ถึงกระนั้นก็ตาม คำสั่งนี้ก็ไม่ได้ผลเต็ม 100%
    กฏซ่อง ในปี พ.ศ. 2485 ได้มีการบังคับให้พนักงานใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ซึ่งอาจจะถือได้ว่า เป็นการใช้นโยบายถุงยาง 100% ครั้งแรกในประเทศไทย
    ไม่มีการรับคืน ทั้งถุงยาง และคูปอง ไม่ว่าในกรณีใด ๆ
    ระยะเวลาของการให้บริการ ครั้งละ 30 นาที
    ยื่นคูปองให้กับพนักงานต้อนรับ
    ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล เข้าไปในห้อง
    เมื่อเสร็จกิจแล้ว ให้ออกจากห้องทันที
    ใส่ถุงยางให้ลูกค้าก่อนเสมอ
    ห้ามก่อเหตุ หรือทำร้ายร่างกาย
    ให้มีการตรวจพนักงาน เดือนละ 3 ครั้ง
    ถ้าพบพนักงานคนไหน มีเชื้อกามโรค จะถูกห้ามทำงานทันที โดยให้ไปรักษาให้หายก่อนจึงจะกลับมาทำงานได้
    ทหารทุกคนจะต้องตรวจโรคเดือนละครั้ง
    ถ้าพบว่าทหารคนไหนมีเชื้อกามโรค จะถูกลดขั้น จำคุก และ/หรือเฆี่ยน


ในสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารในกองทัพสหรัฐฯ ก็ใช้นโยบายถุงยาง 100% เหมือนกันกับทหารญี่ปุ่น


สงครามโลกครั้งที่ 2 ฐานทัพสหรัฐฯ ที่เกาะคาลิโดเนีย ก็พบว่ามีผู้หญิงไทยทำงานที่นั่นด้วย


    บันทึกรายงานโดยทหารกองทัพอังกฤษ ที่ประจำการที่เมือง โนอูมี นิวคาลิโดเนีย แปซิฟิก


    “ ในปี 2487 ผมสังกัดกองทหารราบ ประจำการอยู่ที่ฐานทัพโนอูมี นิวคาลิโดเนีย ในมหาสมุทร แปซิฟิก ในการปฏิบัติการวันหนึ่ง ผมถูกสั่งให้เข้าเวรยามที่โรงโสเภณีในโนอูมี หน้าที่ของผมคือการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอันใดในบ้านสาวนั้น และตรวจตราว่าทหารอเมริกันที่มาใช้บริการ มีถุงยางอนามัยติดตัวมาด้วย, ตรวจบัตรผ่านที่เรียกว่า Liberty Pass, จ่ายค่าบริการให้ทหารอเมริกัน, และแน่ใจว่าทหารอเมริกันได้รับการตรวจโรคจากหน่วยแพทย์ของกองทัพอเมริกัน, และเมื่อเขากลับออกมาจากบ้านสาว เขาจะต้องไปผ่านการตรวจและรับยาป้องกันการติดเชื้อ การปฏิบัติการของผมที่บ้านสาวนี้ จะมีทหารสารวัตรร่วมปฏิบัติการกับผมอีกคนหนึ่ง เพื่อไม่ให้ทหารบางคนขัดขืน หรือไม่ยอมเข้ารับการป้องกัน ซึ่งก็มีบางครั้งที่ทหารพวกนี้จะเมามายจนไม่ได้สติ ก็ต้องให้สารวัตรทหารนำส่งเรือนพัก หญิงบริการที่ทำงานอยู่ในบ้านสาวที่นี่ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากมาเลเซีย และประเทศไทย” กลับ


...ป้ายประกาศภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าปลอดภัย สำหรับทหาร จี.ไอ ที่ฐานทัพโคราช ประเทศไทย ความว่า“ห้ามผู้หญิงที่ไม่มีบัตรตรวจโรค เข้ามาในบาร์ หรือแม้จะมากับทหาร จี.ไอ ก็ตาม”


    มีชัย วีระไวทยะ ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากร (Population and Community Development Association – PDA) ขึ้นในปี 2517 ในขณะที่อัตราการเติบโตของประชากรในขณะนั้น จากการสำรวจปี 2511 เท่ากับ 3.4% ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงดี ในเวลานั้น โครงการของสมาคม เน้นที่รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย ยาคุม และเด้บโพ-โพเวร่า โดยมีเป้าหมายที่ผู้หญิงในชนบท ฐานะยากจน และมีลูกมากกว่า 1 หรือ 2 คน ตั้งแต่นั้นมาถุงยางอนามัยก็เป็นที่รู้จักในฐานะเครื่องมือคุมกำเนิด สำหรับภรรยาและแม่

    50 ปีหลังกองทัพญี่ปุ่นยึดกรุงเทพฯ คือ พ.ศ. 2535 ประเทศไทยก็มีการประกาศนโยบายถุงยาง 100% ที่คล้ายคลึงกัน กับนโยบายกองทัพญี่ปุ่น โดย นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ที่ได้รับการสนับสนุนจาก องค์การอนามัยโลก โดยมีรายละเอียดของนโยบาย เป็นต้นว่า

    -ลูกค้าสถานบริการ จะต้องได้รับถุงยางอนามัย และจะไม่มีการเอาผิด  ให้พนักงานบริการทุกคนได้รับการตรวจโรคเพศสัมพันธ์ สัปดาห์ละครั้ง และถ้าพบว่าติดเชื้อ ก็ให้หยุดงานจนกว่าจะรักษาให้หายก่อน หรือสถานบริการที่พบพนักงานติดเชื้อฯ จะถูกปรับ และสั่งปิดกิจการชั่วคราว หรือถาวร หรืออย่างน้อย 2 สัปดาห์

    -การรณรงค์ทางสื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมให้ชายไทยไม่ร่วมเพศกับพนักงานบริการ (ไม่เที่ยว) หรือเท่ากับส่งเสริมให้ชายไทย ไม่ใช้บริการทางเพศแบบเสียเงิน

    นโยบายเช่นนี้ ทำให้ถุงยางอนามัยกลายเป็นตราบาป ที่มีไว้คู่กับพนักงานบริการ (เพราะพวกเธอเป็นหญิงชั่ว หรือพวกมีเพศที่ไม่มีศีลธรรม) ซึ่งต่างออกไปจากนโยบายของกองทัพญี่ปุ่น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ตรงที่นโยบายขององค์การอนามัยโลก ไม่ได้ส่งเสริมสถานะภาพของผู้หญิงที่ทำงานบริการ แต่กองทัพญี่ปุ่นอย่างน้อยก็ยังพยายามที่จะส่งเสริมสุขภาพผู้หญิงให้ใกล้เคียงกับทหาร เช่น มีการห้ามทหารก่อเหตุรุนแรง และทหารทุกคนจะต้องมีการตรวจโรคเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกัน

    ในปี 2548 รัฐบาลไทยยกเลิกนโยบายแจกถุงยางอนามัยฟรี และปรับโครงการศูนย์บริการสุขภาพชุมชน (คลินิกวีดี, คลินิกชุมชน) ให้ยกเลิกและเอาไปรวมไว้ในนโยบาย 30 บาท ตามโรงพยาบาลแทน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เรื่อง เอชไอวี)


กดหมาย... กฎหมาย...
จะเลือกกฎ (หมาย) ข้อไหน... ก็โดนทั้งนั้น


กฎบาร์
    ในขณะที่ลูกจ้างในสถานประกอบการหลายอย่างในประเทศไทย ล้วนอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน แต่ก็ปรากฏว่าพนักงานที่ทำงานในสถานบริการ กลับไม่ได้มีฐานะเป็นลูกจ้าง เนื่องด้วยไม่มีกฎหมายไว้ยึดถือ นายจ้างของพนักงานบริการ จึงได้กำหนดกฎระเบียบขึ้นมาบังคับพนักงานเอง กฎบาร์เหล่านี้ มีมาตรการเหมือนกันทั่วประเทศ และไม่เคยเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงเลย ตลอดเวลา 50 ปีมานี้ และเป็นกฎระเบียบ ที่สำคัญมากต่อพนักงานบริการทุกคน และเป็นกฎที่มีผลต่อการดำรงชีวิตตลอดเวลามากกว่ากฎหมายของรัฐ เสียอีก


กฎบาร์ในกรุงเทพฯ 2538
กฎบาร์ในภูเก็ต 2548
  • ถ้ามีเรื่องกับแขก ไล่ออกทันที
  • เข้างานสาย หักนาทีละ 2 บาท
  • มีวันหยุดให้ เดือนละ 1 วัน ถ้าใครจะหยุดมากกว่านั้น หรือ ลาหยุด หักวันละ 400 บาท
  • ไม่มาทำงานวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะถูกหัก วันละ 1,000 บาท
  • กินอาหาร ในเวลาทำงาน หรือเข้าห้องน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต โดนหัก ครั้งละ 50 บาท
  • ตอกบัตรเข้าทำงานก่อนแต่งตัว แต่งหน้า หัก 50 บาท
  • ทะเลาะกัน ถูกปรับคนละ 300 บาท
  • ในวันเงินเดือนออก พนักงานทุกคนต้องแสดงบัตรตรวจสุขภาพ ถ้าไม่ได้ไปตรวจประจำเดือน จะไม่ได้ค่าจ้าง หรือถ้าไม่ตรวจมากกว่า 1 ครั้ง จะถูกปรับครั้งละ 300 บาท
  • จะต้องให้ลูกค้าซื้อดื่มให้ คนละ 60 ดื่ม ต่อเดือน และจะโดนหัก 30 บาท ต่อดื่มที่ทำไม่ได้ตามโควต้า
  • จะต้องออกไปกับแขก เดือนละ 6 ครั้งเป็นอย่างน้อย ถ้าทำไม่ได้ตามโควต้า จะหักเงินเดือนครั้งละ 200 บาท
  • ไม่มีประกันสังคม
  • เงินเดือน 3,000 บาท ต่อเดือน
  • ห้ามมีปัญหากับลูกค้าของร้าน
  • เข้างานสาย หักนาทีละ 5 บาท
  • มีวันหยุดให้เดือนละ 1 วัน ถ้าผู้ใดหยุดมากกว่า จะถูกหักวันละ 500 บาท
  • ถ้าไม่มาทำงานวัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ถูกปรับวันละ 1,000 บาท
  • ค่าเข้าห้องน้ำ ครั้งละ 5 บาท
  • ถ้าแขกสั่งดื่มให้ ในราคา 150 บาทขึ้น จะได้ส่วนแบ่ง 30 บาท ต่อดื่ม
  • ถ้ามีแขก แต่ไม่พาแขกมาจ่ายค่าบาร์ จะถูกหักคืนละ 500 บาท
  • ห้ามรับแขกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางบาร์
  • เวลาทำงาน 18.00-03.00 น.
  • ไม่มีประกันสังคม
  • ไม่มีเงินเดือนให้ – แต่มีห้องพักแลกกับการทำงาน

กฏหมายตราสามดวง
    เมื่อปี พ.ศ. 2348 ได้ปรากฏคำว่า “โสเภณี” ขึ้นเป็นครั้งแรก ในกฎหมายตราดวง และให้ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่สามารถเป็นพยาน ในการพิจารณาคดีความในศาลได้ และในกฎหมายยังห้ามมิให้ชายแต่งงานกับหญิงโสเภณี อีกด้วย ตามกฎหมายฉบับนี้ ถ้าพบว่า หญิงโสเภณี หรือที่เลิกอาชีพแล้วก็ตาม ไปมีชู้มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีเมียแล้ว ให้ถือเป็นความผิด ต้องถูกประจาน และให้ต้องโทษทำงานเยี่ยงวัวควาย ในท้องนา


พรบ. ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2452 
    กฏหมายฉบับนี้ ตราขึ้นเพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมกิจการค้าหญิงโสเภณีได้ โดยให้มีการจดทะเบียน และเก็บค่าขึ้นทะเบียน และประกันว่าผู้ขึ้นทะเบียนค้าประเวณี “จะไม่เป็นโรคติดต่อเพศสัมพันธ์” ผลปรากฏว่า มีผู้ไปจดทะเบียนประมาณ 5 % เท่านั้น

    ตามกฎหมายฉบับนี้ สถานค้าประเวณีจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล โดยการออกใบอนุญาตให้ และ “ไม่ให้มีการบังคับผู้หญิงให้ทำงาน หรือโดยไม่สมัครใจ”, “ห้ามมิให้เจ้าสำนักโสเภณี กักขังหญิงโสเภณี” และ “ผู้หญิงโสเภณีจะต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป” “หากสถานประกอบการใด บังคับให้กระทำ หรือกระทำอันใดที่ไม่ได้เป็นไปโดยสมัครใจ ของหญิงโสเภณี จะได้รับโทษ” และให้สถานโสเภณีทุกแห่ง “แขวนโคมไฟ ไว้เป็นสัญญาลักษณ์ ที่หน้าบ้าน” กฎหมายฉบับนี้ บังคับใช้ต่อเนื่องมาถึง พ.ศ. 2503


พรบ.การค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. 2471 
    ในหลวง (รัชกาลที่ 7) ทรงกังวลใจเกี่ยวกับข่าวคราวที่ว่ามีเด็กหญิงชาวจีนจำนวนมากทำงานในสถานโสเภณีไทย จึงทรงให้ตราเป็นกฎหมายต่อต้านการค้าหญิงขึ้นในปี 2471 ที่ให้เอาผิดผู้นำพา หรือค้าหญิงและเด็กหญิง ตัวอย่างเช่น ในหมวดที่ 7 ตราไว้ว่า ผู้หญิงหรือเด็กหญิงที่ถูกล่อลวง ชักนำ นำพา เข้ามาในราชอาณาจักร จะได้รับการยกเว้นโทษจองจำ และโทษปรับ โดยให้เจ้าหน้าที่ ๆเกี่ยวข้องใช้งบประมาณของรัฐในการดูแล ให้ที่พักพิง แล้วส่งกลับประเทศ ดังนั้นจึงได้มีการสร้าง สถานสงเคราะห์ เพื่อรองรับผู้หญิงที่ได้รับการช่วยเหลือมาคราวละ 30 วัน ก่อนที่จะส่งกลับบ้านเดิม หรือทั้งนี้แล้วแต่คำสั่งของศาล

    ล่วงมาในปี 2550 หรือ 80 ปีหลังจาก พรบ.ฉบับดังกล่าวข้างต้น ประเทศไทยก็มีกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ และกำหนดให้ผู้หญิงและเด็กที่ได้รับการช่วยชีวิตมา ต้องเข้ารับการสงเคราะห์ ที่ศูนย์สงเคราะห์แล้วส่งกลับบ้านเกิดหลังจากนั้น ไม่ว่าผู้หญิงและเด็กเหล่านั้นจะพอใจกลับบ้านหรือไม่ก็ตาม 


มติสหประชาชาติเรื่องการค้าประเวณี
    ปี พ.ศ. 2492 องค์การโลกที่เพิ่งจะเกิดนี้ ได้มีมติร่วมกัน ที่จะกำจัดการลักลอบ นำพา บุคคลที่เป็นเหตุให้เกิดการบังคับค้าประเวณี รัฐบาลไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติรับมตินั้น และประกาศออกเป็นคำสั่งคณะรัฐมนตรี

    เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2499 ให้ลงโทษผู้ที่ชักนำหรือจัดการให้เกิดการค้าประเวณี ซึ่งปรากฏว่าในภายหลังที่มีการออกเป็นกฎหมายห้ามค้าประเวณี แล้วนั้นบทลงโทษในกฎหมายนั้นกลับไม่รุนแรงเท่าคำประกาศดังกล่าวเลย


พรบ. ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503
    เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า กฎหมายควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ ไม่สามารถกำจัดการลักลอบค้าประเวณีได้ ด้วยสาเหตุนี้ บวกกับนโยบายรณรงค์กวาดล้างมลทิน ขจัด “ภัยสังคม” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ที่มุ่งกวาดล้างการค้าประเวณีเป็นอันดับแรก และพรบ.ปรามการค้าประเวณี ฉบับแรกของประเทศไทยออกมาใช้ในปี 2503 กฎหมายฉบับนี้มุ่งกำจัดการค้าประเวณี (โดยให้คำจำกัดความว่า เป็นการกระทำสำส่อนทางเพศ ที่มีการให้สินจ้างรางวัล) โดยให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พรบ.นี้ ให้จับกุมผู้ค้าประเวณี แล้วไปคุมขังไว้ในสถานสงเคราะห์ เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีการอบรมแก้ไขความประพฤติ การรักษาโดยการแพทย์ และฝึกอาชีพ

    สถานสงเคราะห์ และฝึกอาชีพหญิงที่มีชื่อเสียง และดำเนินกิจการมาจนบัดนี้ ก็คือ บ้านเกร็ดตระการ ที่เปิดขึ้นในปี 2503 เพื่อรองรับกฎหมายฉบับนี้

    ในเวลานั้น แม้ว่าการค้ามนุษย์ ก็ถูกแยกออกไปจากการค้าประเวณีแล้ว โดยที่ถือว่าการค้ามนุษย์ผิดกฎหมาย แต่การค้าประเวณีไม่ผิด แต่ใน พรบ.ปรามฯ พ.ศ. 2503 ที่ให้การค้าประเวณีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย จึงทำให้คนทั้งสองกลุ่มถูกจับมารวมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกชัดเจน อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2550 นี้ ความสับสนในทางปฏิบัติกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากกฎหมายที่ออกมาหลายฉบับ และนโยบายของแต่ละรัฐบาลต่อ ๆมา ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อคนทั้งสองกลุ่ม อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ...ดูเรื่องการค้ามนุษย์


พรบ. สถานบริการ พ.ศ. 2509
    กฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นมาในยุคที่รัฐบาลไทย เห็นว่ารัฐควรจะมีรายได้จากการที่อนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ ใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพ และที่พักผ่อน สำหรับทหารที่ไปรบในสมรภูมิเวียดนาม และตามมาด้วยนโยบายการท่องเที่ยว ตามคำแนะนำของธนาคารโลก ในเวลานั้น เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ มีการแยกประเภท “สถานบริการ” ไว้หลากหลาย และให้มีการออกใบอนุญาตเป็นประเภท ๆไป โดยให้ไปขอจดทะเบียนที่สถานีตำรวจ ตามข้อเท็จจริงพบว่ามีสถานบริการที่ไปขึ้นทะเบียนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น และก.ม. ฉบับนี้ก็มิได้มีข้อความที่ส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน หรือการให้คนงานได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานแต่อย่างใด

    แต่ ก.ม. นี้กลับบังคับให้ พนักงานในสถานบริการ พิมพ์ลายนิ้วมือ และสอบประวัติ ไว้ในแบบสอบสวนผู้ต้องหา ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างร้ายแรง ที่ต่อมาในปี 2549 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย ได้มีมติให้เลิกปฏิบัติต่อพนักงานเยี่ยงอาชญากร อีกต่อไป...


พรบ. ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
    ก.ม. ตรวจคนเข้าเมืองฉบับนี้ ห้ามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเข้าเมือง รวมถึงผู้ที่ทำการค้าหญิงและเด็ก และผู้ที่มีประวัติการกระทำที่ผิดทำนองคลองทำ และกำหนดว่า ผู้ใดนำพาชาวต่างชาติเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท


พรบ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
    เพื่อเป็นการตอบต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเทศในเอเชียเรื่องการใช้แรงงานเด็ก นายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือ นายชวน หลีกภัย จึงประกาศใน วันที่ 3 พฤศจิกายน 2535 จะไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทยอีกต่อไป แต่ในวันรุ่งขึ้น คือ 4 พย. ก็มีผู้หญิงมาแขวนคอตายที่สำนักงานสังคมสงเคราะห์จังหวัดสงขลา ที่ ๆเธอมาขอความช่วยเหลือหลังจากหลบหนีออกมาจากซ่องโสเภณี และในระยะเวลาเดียวกันนั้น ก็พบผู้หญิงตายคาโซ่ที่ล่ามไว้กับเตียงถึง 4 ศพ ในกรณีไฟไหม้ซ่องที่ภูเก็ต ข่าวดังกล่าวได้ทำให้เกิดความสับสนปนเประหว่างเรื่องการค้าประเวณีกับเรื่องแรงงานเด็ก มีการบุกทะลายซ่องทั่วราชอาณาจักร และบ้านสาวทุกแห่งในเชียงใหม่ถูกกวาดล้างอย่างหนัก แต่ก็มีเจ้าของบ้านสาวบางราย ที่ได้รับการแจ้งข่าวจากตำรวจล่วงหน้านานพอที่จะเปลี่ยนแปลงหน้าร้าน ให้กลายเป็นร้านอาหาร หรือบ้านพัก และให้เอาเด็กหญิงที่อายุต่ำกว่า 20 หรือที่ไม่มีบัตรประชาชน ไปหลบซ่อนไว้ที่อื่นเสีย การรณรงค์บุกทะลายซ่อง ได้ยุติลงเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2535 และผู้หญิงทุกคนก็กลับเข้าทำงานตามปรกติ ผู้หญิงหลายคนเล่าถึงความโหดร้ายน่ากลัวของสถานที่หลบซ่อนของพวกเธอ แต่เมื่อกลับมาทำงานก็พบว่า ที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือหน้าตาของซ่อง แต่ในความจริงอีกด้านหนึ่งคือ เธอเป็นหนี้เจ้าของซ่องเพิ่มมากขึ้น เมื่อเราถามว่า ทำไมพวกเธอจึงไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยชีวิต พวกเธอหัวเราะและบอกว่า “เขาไม่ได้ช่วยชีวิตเรา เขาจับเราต่างหาก แล้วเอาเราไปขังไว้ที่สถานสงเคราะห์ ซึ่งก็คือคุกดี ๆนั่นเอง”

    นอกเหนือจากการทะลายซ่อง กฎหมายและการดำเนินการของรัฐบาล อีกด้านหนึ่งก็มีเป้าหมายที่จะปราม “การค้าประเวณีเด็ก” มากกว่า ไม่ได้สนใจเรื่องแรงงานเด็กเลย ด้วยซ้ำไป ผลของการทำงานอย่างเข้มงวดนี้ ทำให้ ก.ม. ฉบับนี้ (พรบ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539) เป็นที่รู้จักกันในนาม ก.ม.โสเภณีเด็ก ...


นโยบายจัดระเบียบสังคม ปี พ.ศ. 2544
    ห้ามเซ็กซ์โชว์, ไม่ให้เปิดสถานบริการเกินกว่าตี 2, ห้ามคนที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีเข้าสถานบริการ, ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ก่อน 6 โมงเย็น, และมีการกำหนดเขตุสถานบริการขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2545 เมื่อการซ้อมรบ Cope Tiger 2002 ที่ร่วมกันหลายประเทศ มาใช้ประเทศไทยเป็นที่ซ้อม โดยมีทหารนานาประเทศมาซ้อมรบในประเทศไทยกว่า 1,100 นาย รัฐมนตรีมหาดไทยยุคนั้น ได้มีคำสั่งเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อต้อนรับเหล่าทหารนานาชาติ ให้ได้ผ่อนคลายหลังการซ้อมหนักในสถานบริการไทยได้ คำสั่งนั้นมีผลให้บาร์และสถานบริการอื่น ๆเปิดเกินตี 2 ได้, ผ่อนผันการบังคับเขตุสถานบริการ และห้ามไม่ให้สถานบริการฉวยโอกาสขึ้นราคาค่าบริการ


ขึ้นข้างบน

ประวัติศาสตร์ภูธรของพวกเรา


    ประเทศไทยเมื่อก่อนจะถึงปี พ.ศ. 2434 ราษฎรทุกคนจะต้องมีเวลาทำงานให้กับรัฐ เรียกว่า เกณฑ์แรงงาน เมื่อระบบเกณฑ์แรงงานสิ้นสุดลง และได้มีระบบการจ่ายเงินภาษี ขึ้นมาใช้แทน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาราษฎรไทยในชนบทก็เข้าสู่ระบบเงินตรา และการทำงานที่มีค่าจ้าง

    แต่ก่อนนั้นทุกครอบครัวในสังคมไทย มีที่ดินเป็นของตนเอง จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ คศ. 1900 ที่ข้าวของชาวนาไทย ได้กลายเป็นสินค้ามีค่าเป็นเงินตรา การผลิตข้าวเป็นไปเพื่อขายมากขึ้น แทนที่การผลิตเพื่อกิน หรือแลกเปลี่ยนสิ่งของอื่น ๆ ทำให้มีบางครอบครัวที่มีฐานะ และสามารถซื้อที่นาเพิ่มเพื่อให้ผลิตข้าวให้ได้ผลกำไรมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงระบบนี้ ทำให้อีกด้านหนึ่งเกิดชาวนาที่ไม่มีที่ดินของตนเองขึ้น

    ในปี พ.ศ. 2456 มีการออกกฎหมายนามสกุล ทำให้คนไทยทุกครัวเรือนต้องตั้งนามสกุลขึ้นมาใช้ และต่อมาก็เป็นที่นิยมให้ผู้ชายเป็นผู้สืบสกุล และผู้หญิงที่แต่งงานก็ต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของสามี ตามแบบอย่างคนชั้นสูง อย่างไรก็ตามสำหรับชนชั้นใช้แรงงาน และชาวชนบททั้งหลาย ที่มีระบบญาติ และการสืบสายเลือด ที่แตกต่างออกไป การมาใช้ระบบนามสกุลจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและขัดกับจารีตการสืบสกุลด้วย

    ตามจารีตการสืบสกุลของคนภาคเหนือ ที่มรดกตกทอดไปแก่ลูกหญิง ดังนั้นเมื่อแต่งงานผู้ชายจะออกจากบ้านไปอยู่ในเรือนฝ่ายหญิง (การออกกฎหมายครอบครัวนี้ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงจารีตใหม่ ที่มีผลกระทบถึงเรื่องการครอบครองที่ดินและการสืบมรดกด้วย) ในปี พ.ศ. 2463 เกิดภาวะผลิตข้าวตกต่ำ ชาวนาจำนวนมากจำเป็นต้องขายที่นา เพื่อให้มีเงินมาใช้จ่าย ทำให้ในปี พ.ศ. 2473 ครอบครัวชาวนาในภาคเหนือ 27% กลายเป็นชาวนาไร้ที่ดิน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคราวนั้น ทำให้ฝ่ายหญิงสูญเสียที่ทำกิน และต้องปรับเข้าสู่ชีวิตของจารีตแบบใหม่

    ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจมาสู่การใช้เงินตรา ในปี 2463 ซึ่งเป็นระยะแรก ๆของการซื้อขายข้าว เป็นต้นมา ชาวนาเริ่มสูญเสียที่ทำกินดั้งเดิมของตนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะเช่นนี้ทำให้ลูกหญิงในภาคเหนือดิ้นรน เพื่อหาทางซื้อที่ดินคืน วิถีชีวิตแบบชาวนา ที่สามารถประเมินรายได้ตั้งแต่ต้นข้าวยังอ่อนอยู่ คือประมาณเดือนเมษายน ดังนั้นครอบครัวที่รู้ตนเองว่า ปีนี้จะได้ข้าวไม่มาก หรืออาจจะราคาไม่ดี ก็ต้องดิ้นรนหาเงินมาไว้ใช้จ่ายโดยวิธีอื่น ไม่เช่นนั้นก็อาจจะถึงคราวต้องขายที่นา ซึ่งถือเป็นทางออกสุดท้าย ประกอบกับในยุคนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2483 ที่มีการเกณฑ์ผู้ชายไปเป็นทหาร ทำให้มีความต้องการแรงงานหญิงเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มคนที่เป็นผู้หาแรงงานหญิงมาป้อนในเมืองก็คือเหล่าทหารเกณฑ์ที่ถูกปล่อยให้กลับบ้านในเดือนเมษายนนั่นเอง การซื้อแรงงานหญิงในขณะนั้น ที่เรียกกันว่าระบบ “ตกเขียว” ไม่ได้มีความหมายแค่เรื่องข้าวอ่อน แต่หมายถึงการจ่ายค่าแรงล่วงหน้าให้กับครอบครัว แลกกับตัวผู้หญิงที่จะเอามาใช้งานในเมือง นัยว่าเพื่อใช้หนี้ ระบบ “ตกเขียว” นี้สืบเนื่องต่อมายาวนาน จนกระทั่งมีการบังคับให้ผู้หญิงต้องเข้าเรียนในระบบโรงเรียน ตามเกณฑ์ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 (คศ.) ระบบตกเขียวแรงงานหญิงจึงค่อย ๆหายไป

    แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 ของรัฐบาลไทย เริ่มต้นในปี 2507 โดยการผลักดันของสหรัฐอเมริกา, ธนาคารโลก, และสถาบันการเงินนานาชาติ และบริษัทข้ามชาติ การพัฒนาเริ่มต้นด้วยการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของรัฐบาล และตีราคาเป็นเงินได้ ไม่ว่าจะเป็น ป่า ที่ทำกินของประชาชน น้ำ ปลาที่อยู่ในน้ำ เพื่อให้รัฐสามารถมีรายได้เป็นเงิน เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจร่วมในโลก คือสามารถกู้ยืมเงินต่างชาติ โดยใช้ทรัพยากรของชาติเป็นหลักประกัน

    ป่าสงวนของชาติ ได้กลายเป็นสินค้า ที่รัฐบาลสามารถให้เอกชน เข้ามาซื้อไม้ ตัดเอาไปขายได้ ป่าถูกปิดเพื่ออนุญาตให้แต่เฉพาะผู้ที่ซื้อสัมปทาน ครอบครัวผู้คนจำนวนมากที่เคยอยู่กินกับป่า ได้กลายเป็นผู้บุกรุก และจะต้องย้ายออกไป

    ชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ตำบล ถูกรัฐบาลสั่งให้อพยพ ออกจากที่ ๆเคยทำมาหากินมาหลายร้อยปี เพื่อหลีกทางให้กับการพัฒนา เป็นเขื่อนพลังไฟฟ้าขนาดใหญ่

    สำหรับคนที่พอจะเหลือเรี่ยวแรงทำกิน ก็จะอาศัยทำกินบนที่สูง ทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งกลายเป็นสร้างปัญหาสภาพแวดล้อม เพิ่มขึ้นอีก

    นับวันก็ยิ่งจะมีความเป็นอยู่ยากลำบากมากขึ้น สำหรับชาวชนบทที่เคยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของป่า และดิน ตามธรรมชาติ คนจำนวนมากจึงเลือกที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง พากันอพยพเข้าเมืองสร้างเขตุสลัมของตนขึ้น เป็นที่อยู่ของคนขายแรงงานราคาถูก, หรือบ้างก็เลือกที่จะให้คนหนุ่มสาวเข้ามาหางานในเมือง เพื่อส่งเงินกลับไปให้ทางบ้าน ในขณะเดียวกัน เมืองก็เจริญเติบโตขึ้น โดยเฉพาะทางด้านสถานบริการ เพื่อต้อนรับกองทัพอเมริกันกับพันธมิตร (ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพทำสงครามในเวียดนามและเป็นที่พักผ่อน ก่อนจะคืนสู่แนวหน้าอีกครั้งหนึ่ง) แน่นอนว่า ธุรกิจบริการที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเวลานั้น ต้องการแรงงานหญิงเป็นจำนวนมหาศาล

    ขบวนการทางสังคมเศรษฐกิจที่ผลักดันให้หญิงสาวชาวเหนือสูญเสียที่ดินดั้งเดิมของตน และความมั่นคงของครอบครัว ความสูญเสียแบบนี้ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ จะต้องสูญเสียสิทธิในการครอบครองที่ดินด้วย

    การเปลี่ยนแปลงถาโถมและซ้ำเติม วิถีเก่า ๆ มากขึ้นไปอีก เมื่อกองทัพอเมริกันถอนตัวออกไปจากประเทศไทยในกลางทศวรรษที่ 70 นอกเหนือจากแรงงานหญิงหลายแสนที่ถูกทอดทิ้ง กองทัพอเมริกันยังได้ทิ้งวิถีชีวิตแบบจีไอ ไว้ให้ด้วย สินค้ส พีเอ็กซ์, เบียร์, บุหรี่นอก, หมากฝรั่ง, ดนตรีคันทรี่เวสเทิร์น และอเมริกันป๊อปมิวสิค, เสื้อยืด, กางเกงยีน, ฯลฯ ฐานทัพอเมริกันได้สร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ให้กับคนไทยทั้งประเทศ ตั้งแต่โคราชถึงอุบล, ตาคลีถึงเชียงราย, กรุงเทพฯ และพัทยา... คนไทยได้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมแห่งความสะดวกสบายกับวิถีอเมริกันแบบใหม่ และรู้สึกลำบากที่จะต้องหันกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมเสียแล้ว


ขึ้นข้างบน

เราทำกันแบบนี้ มาตั้งนานแล้วละทูนหัว...


    การมีเมียหลายคนของผู้ชายไทย เป็นเรื่องปฏิบัติกันเป็นธรรมเนียมมาช้านาน จนสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเพิ่งจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในปี 2478 (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมัย ร.7 นี้เอง)

    ตามธรรมเนียมการมีเมียของชายไทยโบราณ เรามีเมีย 3 ประเภท ประเภทแรกคือเมียที่พ่อแม่แต่งให้ ซึ่งถือว่าจะต้องเป็นเมียที่ดำรงไว้ด้วยความซื่อสัตย์ยิ่ง เมียที่สองเป็นเมียที่ฝ่ายชายได้รับความยินยอมจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมียที่สองนี้เรียกว่าเมียน้อย และอาจจะถูกสามีนำไปบำเรอให้กับแขกเมือง หรือผู้ที่สามีเห็นสมควร เมียประเภทที่สาม คือหญิงที่ครอบครัวประสบปัญหาและต้องถูกขายเพื่อเอาเงินมาเจือจุนครอบครัวหรือใช้แทนหนี้ เรียกว่าเมียทาส หรือเมียซื้อ และสามีก็อาจจะเอาไปขายหรือให้เป็นแรงงานหาเงิน หรือเอาไว้ใช้เป็นดั่งคนรับใช้ก็ได้

    ตามกฎหมายตราสามดวง (สมัยอยุธยา) ผู้ชายที่เป็นพ่อ และสามี จะขายตัวเอง ลูกสาว หรือเมีย ในระยะเวลาหนึ่งเวลาใดก็ได้ โดยตีค่าแลกเป็นเงินที่ต้องการ หรือเท่ากับการชดใช้หนี้ และเมื่อชดใช้หนี้สินหรือถึงเวลากำหนดแล้ว ผู้เป็นสามีก็เอาเมียและลูกสาวกลับไปบ้านได้ตามเดิม อย่างไรก็ตามชายใดที่จะขายตัวเองหรือสมาชิกผู้ใดในครอบครัวจะต้องพิสูจน์ว่าเป็นหนี้สินมาก หากพบว่ากระทำโดยไม่เหมาะสม ก็จะถูกลงโทษ (แต่ไม่เคยมีบันทึกไว้ว่า มีชายกี่คนถูกลงโทษในเรื่องนี้)


...คหบดีชาวเชียงใหม่ กับทาสของเขา

 


    ในปี พ.ศ. 2411 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ออกกฎหมายการขายเมีย โดยตราไว้ว่า “ห้ามมิให้ชายขายภริยา เหมือนดั่งวัวควาย โดยไม่ขอความยินยอมจากเจ้าตัวก่อน”

    ต่อมาในปี 2435 กระทรวงศึกษาธิการได้ก่อตั้งขึ้น คนไทยทั่วทั้งประเทศไทยก็เริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ แต่โรงเรียนเกือบทั้งหมด ตั้งอยู่ในวัด ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงเข้าเรียนไม่ได้อยู่ดี

    เมื่อมีการยกเลิกทาส โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ร. 5 ในปี พ.ศ. 2448 คำว่า “เมียทาส” ก็ถูกยกเลิกไปด้วย แต่ผู้หญิงจำนวนมากถูกเรียกว่าเป็น คนใช้ หรือสาวใช้ ทาสหญิงจำนวนหนึ่งก็ได้รับอิสรภาพและกลับคืนสู่ครอบครัวของตน แต่ก็มีเมียทาสจำนวนหนึ่งถูกย้ายเข้าไปทำงานในซ่องโสเภณี “บ้านสาว” และยังคงทำรายได้ให้กับเจ้านายเดิม และเสียภาษีแก่รัฐอยู่ต่อไป ในระยะเวลานั้นปรากฏว่ามีจำนวนซ่องโสเภณีเพิ่มขึ้น พอ ๆกับการเกิดขึ้นของลูกค้าสถานบริการ และมีการแสดงจำนวนคนงานสถานบริการ

ขึ้นข้างบน

ที่นี่ มีฝนตกมาก น้ำท่าบริบูรณ์!


    ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง มีการห้ามคนจีนเดินทางและค้าขายกับต่างประเทศ กม. มาตรา 225 ของราชวงศ์ชิง ตราไว้ว่า “ผู้ใด... โยกย้ายไปดินแดนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อการอยู่อาศัยหรือทำมาหากิน จะถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายคบค้า หรือสมคบกับกบฏ หรือศัตรู และจะต้องโทษหนักถึงตัดหัว”

    ต่อมาในปี พ.ศ. 2270 จักรพรรดิ์จีนได้ผ่อนคลายการห้ามคนจีนเดินทางลงไปบ้าง และได้อนุญาตให้นำเข้าข้าวจากดินแดนสยามสู่ภาคใต้ของประเทศจีน ถือว่าเป็นช่วงเวลาของการส่งออกข้าวและการนำเข้าผู้อพยพชาวจีนสู่ดินแดนสยาม ในร้อยปีต่อมา ดินแดนที่เรียกว่าตำบลบางกอก มีชาวจีนอพยพมาอยู่มากถึงกว่า 200,000 คน การมีคนจีนอพยพที่เป็นเพศชายที่ไม่มีครอบครัว เข้ามามากถึงขนาดนั้น ก็หมายถึงการเพิ่มขึ้นของลูกค้าสถานบริการจำนวนมหาศาล

    ในปี พ.ศ. 2398 กษัตริย์ไทยเซ็นสนธิสัญญาบาวริ่งกับสหราชอาณาจักร ที่บังคับให้ไทยต้องเปิดการค้ากับต่างประเทศ การเติบโตทางการค้า ทำให้จำนวนแรงงานอพยพผู้ชายเพิ่มขึ้น คราวนี้มาจากชนบทไทยเอง และจากดินแดนประเทศใกล้เคียง

    ในปี พ.ศ. 2484 ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เกิดการนำเข้าลูกค้าสถานบริการอีกระลอกหนึ่ง ทหารญี่ปุ่นจำนวน 350,000 คน เข้าควบคุมอยู่ทั่วประเทศไทย ภาษาญี่ปุ่นและถุงยางอนามัย เป็นทักษะใหม่ที่ญี่ปุ่นนำเข้ามาให้แรงงานบริการไทยขณะนั้น กองทัพญี่ปุ่นตั้งกองบัญชาการขึ้นในกรุงเทพฯ บนที่ดินที่เป็นป่ากล้วย และที่ดินที่นี้บัดนี้คือบริเวณที่มีชื่อว่า พัฒน์พงษ์

    ในปี พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม กรุงเทพฯ มีกองทัพพันธ์มิตรเข้ามาเป็นลูกค้าแทนที่กองทัพญี่ปุ่น พนักงานของเราก็ต้องพัฒนาทักษะในการทำงานใหม่อีกบทหนึ่ง คือ ภาษาอังกฤษ

    พอมาถึงปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลไทยตกลงทำสัญญากับสหรัฐฯ ยอมให้ ใช้ประเทศไทยเป็นที่พักรบ ของทหารจีไอ ในปี 2507 ทหารอเมริกันกลุ่มแรกมาถึงฐานทัพที่ อู่ตะเภา ก่อนที่จะเกิดพัทยา จนกระทั่งสงครามเวียดนามจบลงในปี 2519 ตลอดเวลา 12 ปี มีทหาร จีไอ เข้ามาในประเทศไทยถึงปีละ 700,000 คน... 6 เดือนรบในเวียดนาม และ 1 อาทิตย์ สุขสำราญอย่างเต็มที่ ในประเทศไทย



    นโยบายท่องเที่ยวไทย ในปี พ.ศ. 2523 ประสบความสำเร็จอย่างมาก ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกว่า 2 ล้านคน และ มากกว่า 70% เป็นผู้ชาย

 

    ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใมนประเทศไทย เพิ่มขึ้นถึง 23.6 เปอร์เซ็นต์ และ 70 % ก็ยังมั่นคงอยู่ว่า เป็นผู้ชายที่เดินทางมาคนเดียว

    มีรายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ถึงปี 2540 แสดงว่าชายไทยมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ในการเที่ยวสถานบริการ


Growing up in Bangkok


    ย้อนกลับไปมอง ถึงการเติบโตของธุรกิจบริการ ที่ปี พ.ศ. 2393 ที่กรุงเทพฯ มีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านคนจีน เรียกว่าตรอกสำเพ็ง ที่มีบ้านโคมเขียว ที่ไม่เหมือนในยุโรปที่นิยมให้เป็นโคมแดง ทั้งนี้เพราะมีที่มาจากภาษาจีน คำว่า “บ้านสีเขียว” ที่มีความหมายถึง “ซ่องโสเภณี” สมัยนั้นลูกค้าสถานบริการตรอกสำเพ็ง มีทั้งที่เป็นคนจีน และคนไทย

... ตรอกสำเพ็ง

    รายงานในปี พ.ศ. 2332 ว่าในย่านตรอกสำเพ็ง มีโรงฝิ่นถึง 245 โรง, บ่อนพนัน 128 บ่อน, และ ซ่องโสเภณี 71 ซ่อง แสดงว่าในเวลานั้น ตรอกสำเพ็งเป็นย่านกลางคืนที่มีชื่อเสียงมาก

...โรงฝิ่นที่ตรอกสำเพ็ง

    ห้าสิบปีหลังจากนั้นมา ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเล็กน้อย ในกรุงเทพฯ มีสถานบริการที่มีตำนานอยู่หลายแห่ง แถวตรอกเต่า ถนนพระรามสี่ เช่น โรงยายฝาง, โรงแม่กลีบ, โรงแม่เต่า, ฯลฯ

    ยายฝาง ถือว่าเป็นคนใจบุญสุนทาน และเป็นคนบริจาคเงินสร้างวัด คณิกาผล ส่วนยายกลีบก็สร้างวัด กันมาตุยาราม

    นอกจากนี้ก็ยังมี ที่ผู้หญิงทำงานเช่นย่านสำเพ็งอีกหลายแห่ง เป็นต้นว่า ตรอกเสือเนียม, ตรอกโรงโคม, ตรอกโพธิ์, สะพานเหล็ก, สะพานถ่าน, ตรอกหม้อ, วรเอียด, ถนนดินสอ, วงเวียน 22 กรกฎา, ถนนรองเมือง, แยกมหานาค, โบ๊เบ๊, สะพานขาว, นางเลิ้ง,และบางลำพู

    กรุงเทพฯยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เป็นที่รู้กันว่า มีผู้หญิงมากจากหลายเมือง เช่นหญิงเวียดนามหรือเขมร ที่ตรอกญวน หรือตรอกอันนัม, และยังมีพวกผู้หญิงจีน ญี่ปุ่น และจากต่างชาติอื่น ๆอีก ที่หากินอยู่ตามโรงแรมย่านสี่พระยา

    ปี พ.ศ. 2485 ทหารญี่ปุ่นไปคัดเลือกแรงงานผู้หญิงจากตรอกสำเพ็ง เพือส่งไปสถานบำเรอทหารในมาเลเซีย เลือกได้แค่ 2 คน และถูกส่งไปทำงานในสถานบำเรอทหารญี่ปุ่นที่ค่ายในเขตุประเทศไทย ที่เป็นชายแดนกับมาเลเซีย

    ปี พ.ศ. 2488 กองทัพพันธมิตร ก็เข้าประจำการในกรุงเทพ เวลานั้นมีสถานคาบาเรต์ อยู่ในกรุงเทพถึง 85 แห่ง แต่ละแห่งตั้งชื่อใหญ่โต เป็นต้นว่า เกรทเวิร์ลด์, แฮปปี้ เวิร์ลด์, วีนัสคลับ, และกรีนแลนเทิร์น ย่านที่มีสถานคาบาเรต์หนาแน่น ก็คือต้นถนนนเรศ (สี่พระยา) สำหรับอีกที่หนึ่งที่ขึ้นชื่อลือชาไม่แพ้กัน ก็คือ “เก้าชั้น” ที่เป็นคอมเพล็กส์สถานบริการใหญ่บนถนนเยาวราช ที่มีทั้ง โรงระบำเปลื้องผ้า (สตริ้พ คลับ), โรงเต้นรำ, โรงน้ำชา, ฯลฯ นอกจากนั้นกรุงเทพฯ ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงโลกของหนังปลุกสวาท ในยุคทศวรรษที่ 40... ถึงกับมีสตูดิโอถ่ายหนังเซ็กส์กันที่บ้านหม้อ โดยใช้ชั้นบนของอาคารย่านนั้น

 

    ในตอนปลายทศวรรษที่ 40 สงครามกลางเมืองในประเทศจีน ได้ทำให้เกิดการอพยพของคนจีนขนานใหญ่ มายังประเทศใกล้เคียง ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย แน่นอนว่าในจำนวนผู้หนีภัยสงครามเหล่านั้น มีผู้หญิงอยู่ด้วยจำนวนมาก ผู้หญิงจีนอพยพเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย แต่สามารถเปิดธุรกิจ หรือทำการค้าขายได้ ดังนั้นชาวจีนจำนวนหนึ่งจึงได้เปิดธุรกิจโรงน้ำชา ขึ้นมีบริการเสิร์ฟน้ำชา อาบน้ำ นวด และบริการทางเพศด้วย

 

    ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นายอุดม พัฒน์พงษ์ศิริ เป็นนักศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา และได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย และได้รับการฝึกการรบที่ค่ายฟอร์ตเบนนิ่ง ( Fort Benning ) ในมลรัฐจอร์เจีย ที่ต่อมาก็พัฒนาขึ้นเป็นสถานที่ใช้ฝึกพวกจารชนซีไอเอ

    อุดม ถูกส่งกลับสู่ประเทศไทย ในปี 2488 เพื่อทำงานใต้ดิน แต่สงครามก็เลิกเสียก่อน

    ในปี 2489 พ่อของนายอุดม ชาวจีนอพยพมาจากไหหนาน ที่ได้พระราชทานนามว่า “พัฒน์พงษพานิช” ก็ได้ซื้อที่ดิน ที่บัดนี้คือย่านถนนพัฒน์พงษ์ ในราคา 60,000 บาท (หรือ 2,400 ดอลล่าร์สหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนเวลานั้น) ด้วยจุดประสงค์จะยกให้พี่น้อง และทำการตัดถนนผ่านที่ดินแปลงนั้น เพื่อเชื่อมถนนสีลมกับสุรวงศ์ขึ้น ถนนสายนี้ปัจจุบันก็คือ ถนนพัฒน์พงษ์ 1 ต่อมานายอุดม ที่ได้เข้ามาถือบังเหียนธุรกิจต่อจากพ่อ ก็พัฒนาที่ดินบริเวณถนนพัฒน์พงษ์ ให้เป็นย่านธุรกิจ และต่อมาก็กลายเป็นแหล่งไนท์คลับ

    ในราวปี พ.ศ. 2500 มีย่านสถานบริการใหม่ ๆเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อีกหลายที่ ที่มีชื่อเสียงรู้จักกัน ก็ได้แก่ แพร่งสรรพศาสตร์, โบสถ์พราหม, เสาชิงช้า,ซ่องตรอกไก่, ซ่องหน้าโรงหวย, สะพานถ่าน, ซ่องบางลำพู, ซ่องสะพานขาว, นางเลิ้ง, สุขุมวิทซอยกลาง, และซอยร่วมฤดี, ฯลฯ ยังมีพนักงานบริการอิสระ ที่อาศัยเรือแจวรับลูกค้า อยู่แถวสะพานเฉลิมลาภ ย่านประตูน้ำ 

    ในปีเดียวกันนั้น ที่ปรึกษาด้านสวัสดิการสังคมของสหประชาชาติ ได้เสนอรายงานเกี่ยวกับการค้าประเวณีในประเทศไทย 1905-1957 (พ.ศ.2448-2500) ในรายงานนั้นระบุว่า การค้าประเวณีในประเทศไทยเป็น “ธุรกิจขนาดใหญ่” ณ เวลานั้นมีผู้จดทะเบียนถึง 20,000 คน ซึ่งประเมินว่าเป็นจำนวนประมาณ 5% ของจำนวนตัวเลขผู้ค้าประเวณีจริง ๆ การประเมินนี้ ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า มีหญิงโสเภณีประมาณ 5% ที่ถูกจับตามกฎหมายควบคุมกามโรค กับกฎหมายรบกวนในที่สาธารณะ

    ปัจจุบันนี้ ปี 2550 รัฐบาลไทยประเมินว่ามีจำนวนพนักงานบริการ 200,000 คน ถ้าจำนวนนี้ถูกต้อง ก็หมายความว่า ในปีนี้ จำนวนผู้ค้าประเวณีในประเทศไทย เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของเมื่อ 50 ปีที่แล้ว (2500)

    รายงานนั้นยังระบุอีกด้วยว่า ผู้หญิงที่สำรวจทั้งหมดเป็นคนไทย มีเพียงจำนวนน้อยที่ระบุว่าเป็นคนจีน หรือต่างชาติอื่น ๆ ในเวลานั้น อายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่ทำงาน อยู่ในวัย 15-20 ปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมายเวลานั้น แต่ในวันนี้เฉลี่ยนอายุผู้หญิงที่ทำงานจะอยู่ระหว่าง 20-26 และพนักงานแต่ละคนจะรับแขกโดยเฉลี่ยคืนละ 5 คน

    ในปี 2509 เมื่อทหารจีไอ เริ่มเข้ามา อาร์แอนด์อาร์ (R&R: Rest and Recreation) ในกรุงเทพ ก็ทำให้แผนที่สถานบริการในกรุงเทพเปลี่ยนแปลงไปด้วย โรงแรม “ทางการ” ของกองทัพสหรัฐฯ เวลานั้นก็คือ โรงแรมเดอะแอมบาสเดอร์ บนถนนสุขุมวิท และมีที่เรียกว่า ศูนย์บัญชาการทหารหนุ่ม ก็คือโรงแรมวินเซอร์ ซอยสุขุมวิท 20 และโรงแรมราชา สุขุมวิทซอย 4


ขึ้นข้างยน


ซิบโป้...


บาร์ที่มีเต้นอะโกโก้ ปรากฏขึ้นในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2512

    ประวัติความเป็นมาของ คำว่า อะโกโก้ นั้น เริ่มขึ้นในราวปี 2490 เมื่อ คอมพ์ตั้น แมคเคนซี่ ตีพิมพ์นวนิยายชื่อ วิสกี้ กาลอร์ (Whiskey Galore) เกี่ยวกับ เรือสินค้าที่มีเหล้าวิสกี้อยู่บนเรือ 10,000 ลัง และได้อับปางลงใกล้เกาะแห่งหนึ่ง ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมานวนิยายเรื่องนี้ได้ทำขึ้นเป็นภาพยนตร์ เรื่อง “A Tight Little Island” และเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ นำออกฉายในประเทศฝรั่งเศส ก็ได้เปลี่ยนชื่อหนัง ไปใกล้เคียงกับชื่อนวนิยายต้นเรื่อง ว่า “Whiskey A Gogo – วิสกี้ อะโกโก้” (A Gogo หรือ Au Gogo ในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Galore)

    ต่อมาในปี 2507 ได้มี ดิสโก้เทคเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งในฮอลลีวู้ด ชื่อว่า วิสกี้ อะ โก-โก้ ดิสโก้ เริ่มต้นเป็นสถานเต้นดิสโก้ แต่ต่อมาก็ได้มีการแสดงสดต่าง ๆด้วย ในระหว่างการหยุดเปลี่ยนฉาก ก็จะมีการแสดงของดิสจ๊อกกี้ (Disk Jockey – DJ) ใส่ชุดมินิสเกิร์ต แสดงในกรงที่แขวนอยู่ข้างบนกลางเวที และในระหว่างการแสดงบนเวทีแสดงอยู่ สาว ดีเจ ก็จะเต้นอยู่ใน “กรงทอง” ต่อไปตามจังหวะดนตรีที่แสดงบนเวที ไปด้วย ซึ่งทำให้ผู้ชมต่างพากันคิดว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวที เป็นแนวความคิดของการแสดงทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมา คำว่า เต้น อะ โก-โก้ แด้นซิ่ง ก็ถือกำเนิดขึ้น

    วิสกี้ อะ โก-โก้ สาขานิวยอร์ค เปิดตามมาในปี 2508 และได้เพิ่มการแสดงเต้นระบำนุ่งน้อยห่มน้อย เป็นโชว์ของบาร์ และนี่ก็คือการเกิดขึ้นจริง ๆของ การเต้น อะโกโก้

อะโกโก้ ในกรุงเทพ

    บาร์กรังด์ปรี (Grand Prix Bar & Restaurant) ที่ถนนพัฒน์พงษ์ 1. แนะนำตัวเองว่า “บาร์อะโกโก้ที่ยิ่งใหญ่แห่งแรก” ในประเทศไทย โดยมีนักเต้นที่มีชื่อเสียงชื่อ จอย ในปี 2512 เจ้าของบาร์กรังด์ปรี คือ ริค เมนาร์ด (Rick Menard) นักเต้นอะโกโก้สมัยแรก สวมชุดว่ายน้ำ และไม่ใส่รองเท้า หรือไม่ก็ใส่รองเท้าแตะ หรือรองเท้าผ้าใบ เต้นเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน เต้นครั้งละ 3 เพลง แล้วก็เปลี่ยนให้กลุ่มต่อไปขึ้นมาเต้นอีก มีบันทึกไว้เมื่อปี 2513 ว่าค่าแรงนักเต้นอะโกโก้ ในเวลานั้น เดือนละ 2,000 บาท แต่ก็จะต้องขึ้นต่อกฎบาร์ในเรื่องการปรับค่าแรงและหัก

....จอย ทำโปสการ์ดรูปตัวเองไว้ สำหรับแจกให้ลูกค้าคนโปรดของเธอ

    การเต้นอะโกโก้ ระยะเริ่มแรก ไม่มีเสาโลหะ ชุบโครเมี่ยม เป็นอุปกรณืการเต้นที่สำคัญอย่างเดี๋ยวนี้ จนกระทั่งต้นทศวรรษที่ 1980 (ราว พ.ศ. 2523 หรือหลังจากนั้น) มีการนำเข้าเสาเต้นอะโกโก้ จากมอนทรีอัล แคนาดา ต่อมาในปี 2547 ที่เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทำการรื้อเสาอะโกโก้ ออกจากบาร์ด้วยเหตุผลว่า เสาอะโกโก้ทำให้ดูไม่สุภาพ และไม่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ ที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของดินแดนล้านนา

ซอยคาวบอย

    ซอยคาวบอย เป็นซอยสั้น ๆ ยาวประมาณ 100 เมตร เชื่อมระหว่างสุขุมวิท 21 กับสุขุมวิท 23 ซอยนี้แต่เดิมมีเพียงบาร์ไทยแห่งเดียว ชื่อ จิตรา ต่อมาในปี 2518 ก็มีบาร์ฝรั่งมาเปิด ชื่อ โกลด์ เลเบล (Gold Lebel) พวกชาวต่างชาติย่านสุขุมวิทเรียกชื่อซอยนั้นว่า ซอยโกลด์เลเบล อบู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งนักบิน บี-52 ชื่อ เอดวาร์ด (Edward) มาเปิดบาร์ “คาวบอย” ขึ้นและทำให้ซอยคึกคักมาก ในราวปี 2521 ซอยนั้นก็รู้จักกันในชื่อ ซอยคาวบอยแล้ว

    ตำนานเกี่ยวกับเอ็ดวาร์ด มีว่า เอ็ดวาร์ด สูง 6 ฟุต3 นิ้ว (187.5 ซ.ม.) มีผิวสีน้ำตาลเหมือนช๊อกโกแล๊ตเฮอร์ชีย์ (Hershey’s) ทุกวันอาทิตย์เขาจะสวมชุดคาวบอยสีขาว หมวกปีกกว้างสเตทสันสีขาว ใส่ชุดสูทคาวบอยสีขาว และสวมรองเท้าบูทสีขาว

    ใกล้ ๆ กันในบริเวณนั้น หรือที่รู้จักกันเดี๋ยวนี้ว่า สุขุมวิท 22 เป็นแหล่งเสื่อมโทรม ที่อยู่ของแรงงานอพยพจากชนบท แต่ได้ถูกรื้อถอน ชาวสลัมผู้สร้างชุมชนถูกขับไล่ออกไป พื้นที่ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นแหล่งสถานบันเทิง และสุขุมวิท 22

    ในปี 2530 การเปลี่ยนแปลง ได้รุกเข้ามาถึงพัฒน์พงษ์ เมื่อบริษัทพัฒน์พงษ์พานิชย์ ตัดสินใจปิดถนนพัฒน์พงษ์ 1 ในยามกลางคืน เพื่อให้กลายเป็นตลาดขายของที่ระลึก และเสื้อผ้า สำหรับนักท่องเที่ยว นาย อุดม พัฒน์พงษ์ เสียชีวิตในปี 2539 กรมที่ดินทำการประเมินราคาที่ดินบนถนนพัฒน์พงษ์ ได้ 2,500 ล้านบาท หรือ 100 ล้านดอลล่าร์ ต่อมาในปี 2545 มีการประเมินรายได้ของบริษัทพัฒน์พงษ์พานิชย์ จากการเก็บค่าเช่าบนถนนพัฒน์พงษ์ ตกปีละ 120 ล้านบาท (3 ล้านดอลล่าร์)

    แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทพัฒน์พงษ์พานิชย์ ไม่เคยขึ้นค่าเช่าที่ตั้งศูนย์เอ็มพาวเวอร์พัฒน์พงษ์ เลยตั้งแต่ย้ายเข้าไปเช่าอยู่ในอาคารพัฒน์พงษ์ 1 เมื่อปี 2535 เป็นต้นมา


ขึ้นข้างบน


เสริมสร้างความเข้มแข็ง และศักดิ์ศรี อาชีพพนักงานบริการ


    ประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายศตวรรษ ของอาชีพบริการในประเทศไทย ได้ผ่านต่อบทเรียนจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งที่เป็นพื้นฐานให้พนักงานบริการรุ่นน้อง และพร้อม ๆกับการ เผชิญกับบทเรียนทักษะใหม่ ๆ ที่เรียนต้องเรียนรู้เอาเอง โดยที่ไม่ต้องมีสถาบันการศึกษาใด ๆ หรือแม้แต่ครู ทำหลักสูตรสอนให้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน ภาษาจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ หรือเรียนรู้ขนบประเพณีการปรนนิบัติแบบ ญี่ปุ่น แบบอังกฤษ หรือตามระบบชั้นของทหารอเมริกัน และต่อมาก็เรียนรู้การปฏิบัติตัว วางตัว ให้เข้ากับแบบอย่างผู้คนต่างบ้านต่างเมือง ทั่วทั้งโลกพวกเธอรู้จักการนวดเป็นอย่างดี พวกเธอเต้นรำเป็น ร้องเพลงคาราโอเกะก็ได้ พวกเธอคิดค้นและสร้างการแสดงชวนสวาท (erotic performances)ได้เอง พวกเธอรู้เรื่องการเงิน การแบ่งเปอร์เซ็นต์ การโอนเงินข้ามประเทศ และคุ้นเคยกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือกระทั่งข้อแตกต่างของเวลาโลก

    พวกเธอรู้ดีเกี่ยวกับการป้องกันท้อง และสุขภาพทางเพศ การเสี่ยงต่อโรคใหม่ ๆ เช่นเอชไอวี และพวกเธอก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ถุงยางอนามัย พวกเธอรู้ดีเกี่ยวกับการแต่งหน้า จนถึงเรื่องบิกีนี่ และรองเท้าส้นสูง พวกเธอหูตาไวและรอบรู้ในเหตุการณ์สำคัญ ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐศาสตร์ และกีฬา พวกเธอได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน และบางครั้งก็ให้คำปรึกษา แก่ลูกค้าของเธอ ในเรื่องราวเหล่านั้นด้วยพวกเธอรู้เรื่องพาสปอร์ต วีซ่า และการเดินทางระหว่างประเทศ พวกเธอมีวัฒนธรรมเขียนและส่งโปสการ์ด บัตรวันเกิด โทรเลข เครื่องเพจเจอร์ อีเมล์ เว้ปแคม มือถือ เอสเอ็มเอส และ... อื่น ๆอีกมากมายพวกเธอรู้ดีว่า อาชีพบริการ เป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี ที่สามารถเลี้ยงตัวเธอเอง และครอบครัวได้เป็นอย่างดีด้วย พวกเธอภูมิใจในงานที่พวกเธอทำ และซื่อสัตย์ในทักษะอาชีพอย่างเต็มที่ ... และพวกเธอต่างเรียนรู้ จากกันและกันตลอดเวลา...

    บุคคลอีกคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาอาชีพบริการด้วย ก็คือ พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ รองผู้อำนวยการการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ผู้มุ่งมั่นพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้ ได้รับการยอมรับในระบบการแพทย์ปัจจุบัน และผลงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของ พญ. ผู้นี้คือ “การรื้อฟื้นเกียรติภูมิของการนวด” รวบรวมรื้อฟื้นองค์ความรู้นี้ และกระทรวงสาธารณสุขรับรองว่าการนวดแผนไทยเป็นวิธีการทางการแพทย์ จนเป็นที่ยอมรับในนานาชาติ มีการสร้างมาตรฐานด้วยการให้มีการสอนตามหลักสูตร การนวดแผนไทยให้เป็นอาชีพ 800 ชั่วโมง โดยเปิดสอนขึ้นที่สถาบันการแพทย์แผนไทย และนักศึกษาที่เรียนจบจากโรงเรียนนวดแผนไทยจะได้รับประกาศนียบัตร์ ที่ลงลายมือรับรองโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ปัจจุบันนี้โรงเรียนสอนนวดแผนไทยนี้ ได้รับความนิยมมาก และมีพนักงานบริการจำนวนมากเรียนจบจากโรงเรียนนี้

    ในปี 2549 การศึกษานอกโรงเรียน ยอมรับให้ การเต้นรำอะโกโก้ ที่พัฒนาบทเรียนขึ้นมาโดย โรงเรียน กศน. ของเอ็มพาวเวอร์ เข้าเป็นวิชาเรียนและสอบให้คะแนนได้


ขึ้นข้างบน

เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากอดีตที่ยาวนาน และไกลโพ้น


กรุงโรม

    จักรพรรดินี ธีโอดอรา มเหสีของจักรพรรดิจัสตีเนียน ผู้ทรงธรรมแห่งจักรวรรดิโรมัน มีพระประสงค์จะยกเลิกอาชีพค้าประเวณี พระองค์ทรงทุ่มเทเงินท้องพระคลังมหาศาลสร้างพระราชวังขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่โบสพอรัส เมืองชายฝั่งมหาสมุทรทางใต้ เพื่อให้เป็นที่ควบคุมหญิงโสเภณี และอบรมให้การศึกษาเสียใหม่ มีเรื่องเล่าว่า มีคืนหนึ่งในเมืองคอนสแตนติโนเปิ้ล พนักงานบริการกว่า 500 คนถูกจับ โดยคำสั่งของพระจักรพรรดินีผู้นี้ แล้วนำไปจองจำไว้ที่พระราชวังโบสพอรัส แม้ว่าพวกหญิงที่ถูกจองจำเหล่านี้ จะได้รับการดูแลอย่างดี และได้รับการอำนวยความสะดวกตามต้องการทุกประการ แต่พวกเธอไม่สามารถออกไปนอกราชวังแห่งนี้ได้ มีการบันทึกไว้ว่า ผู้หญิงที่ถูกจองจำที่นี่จำนวนมาก ได้เสียสติเป็นบ้า หรือยอมหนีชีวิตที่ถูกจองจำด้วยการฆ่าตัวตาย โครงการนี้ยอมรับว่าประสบความล้มเหลว และถูกยกเลิกไปในที่สุดเรื่องนี้ทำให้เรารู้ว่า ความพยายามในการที่จะช่วยชีวิตเช่นนี้ ได้พบกับความล้มเหลวมาครั้งแล้วครั้งเล่า

ฝรั่งเศส

    ในปี พ.ศ. 1797 พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าการค้าประเวณีผิดกฎหมาย หลังจากที่พระองค์ทราบภายหลังว่า ในการทำพิธีในโบสถ์ครั้งหนึ่ง เคยมีโสเภณีชาวปารีสนั่งติดกับ พระราชินีของฝรั่งเศส ซึ่งทำให้พระราชินีต้องจูบแก้มโสเภณี ตามประเพณีในโบสถ์นั้น ดังนั้นเมื่อความทราบถึงพระกัณณ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 จึงประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ด้วยการออกกฎห้ามมีโสเภณีจากนั้นมาอีกร้อยกว่าปี การปกครองโดยกษัตริย์ในฝรั่งเศสได้ถูกยกเลิกไป แต่การค้าประเวณีก็ยังคงมีอยู่ต่อไปในฝรั่งเศส จวบจนทุกวันนี้

ซานฟรานซิสโก

    อาตอย หรืออาต้อย หรืออาต๋อย แห่งซานฟรานซิสโก ที่เล่ากันว่าเป็นหญิงบริการคนแรกที่ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ซานฟรานซิสโก ในปี พ.ศ. 2391 เธอคิดค่าบริการ ในการเพียงได้ยลใบหน้าเธอ เป็นทองคำหนักถึง 1 ออนซ์ (ประมาณ 18 ดอลล่าร์ เวลานั้น) ซึ่งเล่ากันว่าความงามของเธอ ทำให้คิวผู้ชายที่อยากเห็นใบหน้าเธอยาวเหยียดไปหลายห้องแถว ในช่วงเวลาที่เธอดังสุด ๆ ในราวปี พ.ศ. 2393 เมื่อเรือขนคนงานที่มาจากซักคราเมนโตเทียบท่า เหล่าคนงานที่มากับเรือจะแย่งกันออกจากเรือวิ่งแข่งกันไปเข้าคิวชมใบหน้าอาตอย เพียงแค่ 2 ปีของการขายใบหน้า อาตอย ก็เก็บเงินได้มากพอที่จะเปิดบ้านสาวเป็นของเธอเอง.....................จบ.....